สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
หลักสูตร / สาขา

สาขาวิชาเกษตรนวัต (ทวิศึกษา) (ปวช.)

สาขาวิชาเกษตรนวัต
Innovative Agriculture

การเรียนรู้เกษตรกรรมสมัยใหม่ มีการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ทันสมัยเข้ากับเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก การผลิตสัตว์ การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ เพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล โดยมีการใช้เทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูง เข้ามาควบคุมดูแลและเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานภายในฟาร์ม เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

รูปแบบการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำการเกษตร เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลพื้นฐานส่วนต่างๆภายในฟาร์มให้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ประมวลผลด้วยโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยในการตัดสินใจและสามารถปรับปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยดูแล พันธุ์พืชและรักษาพันธุ์สัตว์ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงช่วยจัดการผลิตผลทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อให้คงคุณภาพไว้ได้นานที่สุด เพื่อเป็นการช่วยแก้ปัญหาทางการเกษตร เนื่องจากเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ จากการใช้ปัจจัยการผลิตที่สิ้นเปลืองเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ผลผลิตเกษตรจำนวนมากยังคงสูญเสียตั้งแต่การเก็บเกี่ยว ตลอดเส้นทางไปสู่ผู้บริโภคหรือสู่กระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งมีสาเหตุจากการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวไม่ดีพอ นวัตกรรมเกษตรจึงเป็นศาสตร์ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการเรียนการสอนโดยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเป็นรูปแบบการทำเกษตรกรรมที่มีความแม่นยำสูงหรือฟาร์มอัจฉริยะ เกษตรกรรมแบบยั่งยืน รวมไปถึงการจัดการผลิตผลทางเกษตรแบบครบวงจร เกษตรนวัตจึงเป็นเกษตรกรรมยุคใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน และถือว่าเป็นเกษตรกรรมของอนาคตอย่างแท้จริง สาขาเกษตรนวัตจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกรไทยยุคใหม่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และส่งเสริมให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกต่อไป

จุดเด่นของสาขา

สาขาเกษตรนวัตเป็นสาขาที่ใช้การเรียนรู้แบบบูรณาการ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้พื้นฐานการเป็นนักวิทยาศาสตร์ รู้จักการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และสามารถนำความรู้ที่ได้มาปรับประยุกต์ใช้ได้จริง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้ในด้านเกษตรกรรมเพื่อรองรับเทคโนโลยีในอนาคต

โดยอุปกรณ์ภายในสาขาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน สถาบันการศึกษา สถานประกอบการทางด้านการเกษตร มีแปลงปลูก โรงเรือนปลูกผัก โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ที่ทันสมัย มีอุปกรณ์ทางการเกษตร อุปกรณ์ทางด้านการเลี้ยงสัตว์ที่ครบครัน มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดค่าที่สำคัญภายในโรงเรือน โดยเชื่อมโยงข้อมูลด้วยระบบโครงข่าย ระบบสารสนเทศ ที่จำลองจากฟาร์มอัจฉริยะที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถเรียนรู้และฝึกทักษะการทำเกษตรกรรมแบบแม่นยำสูง มีเรือนกระจก (green house) เรือนเพาะชำ (nursery) โรงเรือนปลูกผักแบบไม่ใช้ดิน โรงเรือนปลูกเห็ด โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ระบบปิด โรงเรือนผสมอาหาร ห้องฝักไข่ ห้องแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เพื่อให้สามารถเรียนรู้การทำเกษตรกรรมแบบครอบคลุม เพื่อสร้างทักษะการวางแผน ออกแบบการบริหารจัดการฟาร์ม การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และสามารถลงมือปฏิบัติได้จริง

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

  • ระดับ ปวช. รับนักเรียนที่มีที่พักอาศัยในเขตพื้นที่จังหวัดระยอง หรือพื้นที่ใกล้เคียง ที่เรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3
  • มีระดับผลการเรียนเฉลี่ยสะสมรวมทุกรายวิชา 5 ภาคเรียน ไม่ต่ำกว่า 2.00

โครงสร้างหลักสูตร

สอบถามรายละเอียดหลักสูตร

สาขานี้เรียนอะไร

ศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญ หลักการ กระบวนการปฏิบัติงานทางการเกษตร

  • เรียนรู้การเลือกใช้เทคโนโลยี เลือกใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางชีวมวลทางการเกษตร ศึกษาและปฏิบัติเกี่ยวกับความสำคัญ ประเภท และชนิดของพืช
  • ปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการขยายพันธุ์พืช
  • การวางแผนการปลูก การดูแลรักษา การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ศึกษาทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับหลักการเลี้ยงสัตว์บกและสัตว์น้ำ ปัจจัยพื้นฐานการเลี้ยงสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ ประเภทและชนิดพันธุ์สัตว์ โรงเรือนและอุปกรณ์ อาหารสัตว์ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิเคราะห์ วางแผนการดูแล การรักษาโรคและการสุขาภิบาลสัตว์ การจัดการผลผลิต การแปรรูปผลผลิต
  • การประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆในกระบวนการทางการเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตพืชและการผลิตสัตว์อย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
  • การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นคุณธรรมในวิชาชีพและสามารถศึกษาต่อในระดับสูงต่อไปได้

จบแล้วมีงานทำ

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
เมื่อจบการศึกษาสามารถเข้าทำงานในสถานประกอบการ องค์กรของรัฐ เอกชน หรือ เป็นเจ้าของกิจการของตนเอง ในสาขาวิชาเกษตรนวัต

ซึ่งการเรียนจะเน้นตลาดด้านเทคโนโลยีทางการเกษตรอัจฉริยะโดยเฉพาะ

ซึ่งจะมีมาตรฐานสากลเป็นตัวกำหนดรายละเอียดในแต่ละระดับ ซึ่งกลุ่มงานประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากการจบสาขาวิชาเกษตรนวัต เช่น

  • เกษตรกรอัจฉริยะ (smart farmer) ในธุรกิจฟาร์มเกษตร ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปลูกพืช โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เป็นเครื่องมือ
  • ผู้จัดการฟาร์มอัจฉริยะ (smart farm manager) ในธุรกิจฟาร์มเกษตร ทำหน้าที่วางแผนและควบคุมดูแลการปลูกพืชและการใช้ทรัพยากรต่างๆ ในฟาร์มเกษตรอัจฉริยะหรือฟาร์มเกษตรที่ทันสมัยแบบต่างๆ
  • นักวิชาการหรือที่ปรึกษาฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ (smart farm advisor) ในบริษัทธุรกิจเกษตรหรือธุรกิจฟาร์มเกษตร ทำหน้าที่ออกแบบ เลือกอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม และดำเนินการสร้างฟาร์มเกษตรอัจฉริยะและฟาร์มเกษตรที่ทันสมัยแบบต่างๆ
  • นักวิชาการด้านการจัดการผลิตผลเกษตร ในบริษัทธุรกิจเกษตร ทำหน้าที่วางแผนและควบคุมดูแล การบรรจุหีบห่อ เก็บรักษา ขนส่ง ซื้อขาย หรือนำเข้าส่งออก ผลิตผลเกษตร
  • ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ในบริษัทธุรกิจการบริการทางการเกษตร
  • เจ้าของธุรกิจฟาร์มเกษตรหรือบริษัทธุรกิจเกษตรทุกประเภท
  • นักวิชาการในหน่วยงานราชการ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ฯลฯ
  • นักวิจัยในหน่วยวิจัย เช่น วว. NECTEC ฯลฯ
  • อาจารย์สังกัดหน่วยงานของรัฐและเอกชน
  • สามารถศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นไปได้